จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันพุธที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2554

สถานที่ท่องเที่ยวจ.สระบุรี


ข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว จังหวัดสระบุรี



วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี

"....ผู้ที่ได้มีโอกาสไปสักการะรอยพระพุทธบาทถึง 7 ครั้ง ด้วยความศรัทธาจะได้ขึ้นสวรรค์.." คือความเชื่อทางพุทธศาสนาของชาวไทย รอยพระพุทธบาท คาดว่าค้นพบในสมัยพระเจ้าทรงธรรม บันไดทางขึ้นสร้างในสมัยรัชกาลที่ 1 ลักษณะเป็นนาคสามสาย ทอดชนานกับหัวบันไดเป็นรูปเศียรพญานาคหน้าเศียรนามว่ามุจลินทร์ โดยสายที่ 1 จากด้านซ้ายถือเป็นบันไดเงิน สายที่ 2 เป็นบันไดแก้ว และสายที่ 3 เป็นบันไดทอง เชื่อกันว่าหากปรารถนาเงินให้ขึ้นบันไดเงิน ปรารถนาทองให้ขึ้นบันไดทอง และปรารถนายศฐาบรรดาศักดิ์ หรืออื่นๆ (ส่วนใหญ่จะปรารถนาด้านคู่ครอง) ให้ขึ้นบันไดแก้ว โดยให้กลั้นหายใจพร้อมกล่าวคำอธิษฐานจนถึงบันไดขึ้นบนสุด

เมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมโปรดให้สร้างพระมณฑป พร้อมกับ ทรงสร้างพระอารามขึ้นแล้ว จึงมีพระบรมราชโองการ ทรงกำหนด งานสำหรับให้บรรดาประชาชนขึ้นไปมนัสการรอยพระพุทธบาทนั้น กับรับสั่งให้จัดงานนักขัตฤกษ์เพื่อให้ประชาชนได้เกิดความรื่นเริง ภายหลังจากที่ได้มีศรัทธาน้อมนมัสการแล้ว โดยกำหนดให้จัดงาน ในเดือน 3 ครั้งหนึ่ง และในเดือน 4 อีกครั้งหนึ่ง เป็นประเพณี นับตั้งแต่ครั้งนั้นเป็นต้นมา โดยงานเทศกาลเดือน 3 เริ่มงานตั้งแต่ วันขึ้น 1 ค่ำ ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 (เพ็ญเดือน 3) รวม 15 วัน ส่วนเทศกาลในเดือน 4 เริ่มตั้งแต่ วันขึ้น 8 ค่ำ ถึง ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 (เพ็ญเดือน 4) รวม 8 วัน แต่ในยุคปัจจุบัน ในเทศกาลทั้ง 2 เดือน ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปบ้าง โดยถือเอาวันตรุษจีนเป็นเกณฑ์ เช่นในปีใดตรุษจีนตรงกับเดือน 4 ก็จะ ให้เปลี่ยนเทศกาลเดือน 3 เป็นเริ่มจากวันขึ้น 8 ค่ำถึง ขึ้น 15 ค่ำ เดิน 3 สลับกันไป

การกำหนดเวลาเพื่อเปิดพระมณฑปให้ประชาชนได้ขึ้นไป นมัสการในเทศกาลเดือน 3 และเทศกาล เดือน 4 จะเริ่มเปิดเวลา 06.00 น. จนถึง 19.00 น. จากนั้นเวลา 20.00 น. จะเป็นเวลาที่พระภิกษุกสงษ์ ที่เดินทางมาจาริกแสวงบุญ ได้ขึ้นไปนมัสการไหว้พระและสวดมนต์ ส่วนในวันปกติ ธรรมดา จะเปิดให้ ประชาชนทั่วไปได้ขึ้นไปนมัสการ พระพุทธบาท ทุกวันในเวลา 06.00-18.00 น.

ปัจจุบันงานเทศกาลนมัสการพระพุทธบาทมีพุทธศาสนิกชน ทั้งชาวไทยและต่างชาติเดินทางมานมัสการ พระพุทธบาท เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะช่วงเทศกาลที่ตรงกับ ตรุษจีนจะมี ชาวไทยเชื้อสายจีนเดินทาง มานมัสการมากเป็นพิเศษ จนลานวัดที่กว้างขวางแลดูแคบไปถนัดตา

โบราณสถาน วัดเขาวง (ถ้ำนารายณ์)

วัดเขาวง (ถ้ำนารายณ์) ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ที่ปากถ้ำมีอักษรมอญโบราณ (ปัลลวะ) ซึ่งเป็นแบบอักษรของชาวอินเดียฝ่ายใต้ ปรากฎมีในภาคกลาง และภาคใต้ของประเทศไทยในสมัยก่อนสุโขทัย จนวิวัฒนาการมาเป็นอักษรขอมและ มอญโบราณ ซึ่งพ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรง นำมาดัดแปลงประดิษฐ์เป็นต้นกำเนิดอักษรไทย จนถึงทุกวันนี้อักษรจารึกถ้ำนารายณ์ มีข้อความ ๓ บรรทัด ถูกจารึกในสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๒ (ยุคทวาราวดี) ในยุคนั้น ชนชาติมอญมีอำนาจรุ่งเรือง อักษรจารึก เขียนเป็นคำบอกร้อยแก้ว กรมศิลปากรแปลไว้ว่า “กัณทราชัย ผู้ตั้งแคว้นอนุราธปุระ ได้มอบให้พ่อลุงสินาธะ เป็นตัวแทนพร้อมกับชาวเมือง (อนุราธปุระ) จัดพิธีร้องรำ เพื่อเฉลิมฉลอง(สิ่ง)ซึ่งประดิษฐานไว้แล้วข้างในนี้”
(อ้างอิงจาก เทิม มีเต็ม และจำปา เยื้องเจริญ กองหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร ‘จารึกบนผนังปากถ้ำนารายณ์’ ในวารสารศิลปากร หน้า ๕๓-๕๗ ม.ป.ป.)
จารึกนี้บอกให้ทราบว่า ท้องถิ่นแถบนี้มีผู้คนอาศัยอยู่เป็นเวลานาน และอาจจะเคยเป็นเมืองที่เจริญรุ่งเรือง มาก่อน ซึ่งคำว่า ‘อนุราธปุระ’ เป็นชื่อเมืองโบราณในประเทศศรีลังกา ซึ่งเป็นเกาะทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย และอาจจะแสดงว่าชาวลังกากับคนท้องถิ่นนี้ (มอญโบราณ) มีการติดต่อสัมพันธ์กัน จึงมีการอ้างชื่อเมือง เพื่อกำหนดให้ระลึกถึงกัน พร้อมทั้งจารึกอักษรไว้เป็นหลักฐาน ทั้งนี้เปรียบเทียบศึกษาจากบันทึกในพงศาวดาร หลายฉบับระบุว่า ในสมัยอาณาจักรสุโขทัย และกรุงศรีอยุธยา รัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม (พ.ศ.๒๑๖๓-๒๑๗๑) เคยมีปรากฏคณะสงฆ์ไทยเดินทางไปเมืองลังกาเพื่อนมัสการรอยพระพุทธบาทที่เขาสุมนกูฏ แต่ พระภิกษุลังกาได้บอกว่ามีรอยพระพุทธบาทในประเทศไทยที่เขาสุวรรณบรรพต และเกิดการค้นพบรอยพระพุทธบาทบริเวณเทือกเขานี้ในเวลาต่อมา หรืออาจจะหมายถึงการแลก เปลี่ยนวัฒนธรรมพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์ และสยามวงศ์ตามที่ปรากฏในพงศาวดารของชาติไทยเราด้วย ก็อาจจะเป็นได้

สถานที่แห่งนี้ เป็นศาสนสถานมาเป็นเวลายาวนาน สืบความไปถึงสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เสด็จจากวังนารายณ์ เมืองละโว้(ลพบุรี) ไปว่าราชการ ณ กรุงศรีอยุธยา ทรงผ่านประทับแรม ณ ถ้ำนารายณ์ ...และสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมซึ่งเสด็จนมัสการรอยพระพุทธบาท ก็ได้เสด็จประทับพักแรมในถ้ำนารายณ์ ซึ่งมีอากาศเย็นสบายตลอดปี และจากจารึกอักษรผนังปากถ้ำก็ปรากฏหลักฐานว่าถ้ำนี้ได้เคยเป็นที่บำเพ็ญกุศล มาตั้งแต่สมัยอนุราธปุระ เมื่อกว่า ๑,๒๐๐ ปีมาแล้ว ผ่านความรุ่งเรืองและเสื่อมโทรม และฟื้นฟูขึ้นเป็นวัดตามประเพณีการปกครองแผ่นดินและการสืบพระพุทธศาสนา ดังกล่าวข้างต้น

ปัจจุบันนี้ โดยการนำของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) และพระธรรมสิทธินายก (ธงชัย สุขญาโณ) แห่งวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร วัดเขาวง ได้พัฒนาขึ้นมาสู่สภาพวัดพัฒนาตัวอย่างที่มีผลงานดีเด่น ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากรแล้วเมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๕ ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๙ ตอนพิเศษ ๑๑๙ ง และยังเป็นแหล่งพันธุ์ไม้และสัตว์หาดูยาก คือโมกราชินี (Wrightia SIRIKITIAE D.J. Middleton&Santisuk) จันผา, นกหัวจุก, กระรอกเผือก ฯลฯ เพื่อรักษาไว้เป็นมรดกวัฒนธรรมศาสนาของชาติไทยสืบไป

วัดเขาวง (ถ้ำนารายณ์) เป็นสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดสระบุรี และปฏิบัติกรรมฐานตามสาย พระเดชพระคุณพระราชพรหมยาน(หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ) มีหลักเจริญภาวนา มหาสติปัฏฐานสูตร รับผู้เข้าพัก ปฏิบัติธรรมตลอดทั้งปี ตามระเบียบและจารีตของสำนัก

พระพุทธฉาย

เงาพระพุทธเจ้าบนผาหิน พุทธศิลปอายุกว่า 1,000 ปี 

รอยพระฉายบนผาหิน หรือเงาพระพุทธเจ้า ที่ปรากฎมีเรื่องราวเป็นตำนานให้ชาวพุทธได้มาสักการะ นอกจากจะได้ชมความศักดิ์สิทธิ์และได้มีโอกาสมากราบไหว้ เพื่อเป็นสิริมงคลกับตัวเอง บริเวณด้านบนเหนือผาหินมีทางเดินขึ้นเขา เพื่อไปสักการะรอยพระพุทธบาทเบื้องขวา เรียกได้ว่า มาจังหวัดสระบุรีรอบเดียว จะได้มีโอกาสสักการะรอยพระพุทธบาทถึง 2 รอยด้วยกัน นั่นคือ รอยแรก คือรอยพระพุทธบาทเบื้องขวา ณ วัดพระพุทธฉายแห่งนี้

บริเวณด้านบนเขาที่ประดิษฐานเป็นภูเขาสูง ที่สามารถมองเห็นบรรยากาศรอบๆ ของจังหวัดสระบุรี ที่รายล้อมด้วยภูเขา สลับด้วยสีเขียวสดของต้นไม้ อากาศเย็นสบาย บริสุทธิ์ ตลอดระยะเวลาเดิน-ขึ้นลงเขา เป็นทางเดินทางขึ้นเขาที่ร่างกายของเราจะถูกล้อมรอบด้วยป่าเขียวขจี

นอกจากนั้นยังมีสัตว์เล็ก สัตว์น้อย ตลอดเป็นรายทางไป ที่เห็นจะมีมากกว่าเขา แถมเป็นเพื่อนสนิทของบรรพบุรุษมนุษย์เรามากไม่รู้ว่ากี่พัน กี่ร้อย ล้านปีมาแล้ว นั่นคือ "คุณลิง เจี๊ยก" นั่นเอง รอยที่ สอง คือ รอยพระพุทธบาทเบื้องซ้าย ที่ วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร ที่ชาวพุทธ เคารพสูงสุด

พระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ 

พระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศเป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นเพื่อให้เป็นธงชัย เป็นที่กราบไหว้สักการบูชาของชาวไทยทั้งสี่ทิศ กรมการรักษาดินแดน (Territorial Defense Department)

ได้สร้างขึ้นเพื่อเป็นการแสดงความจงรักภักดีต่องค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู
่หัว และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช โดยสร้างขึ้น 4 องค์ เมื่อวันที่ 6 มีนาคม พงศ.2509 เป็นพระปางขัดสมาธิ วัสดุโลหะผสม ทองเหลือง 2 ส่วน ทองแดง 1ส่วน ทองขาว 1 ส่วน น้ำหนักประมาณ 400 กิโลกรัม หน้าตักกว้าง 49 นิ้ว สูง 69 นิ้ว

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้โปรดฯ พระราชทานแก่ชาวสระบุรี เพื่อเป็นพระพุทธรูปประจำทิศตะวันออก ชาวสระบุรี จึงได้ดำเนินการก่อสร้างศาลาจตุรมุขขึ้น และได้อัญเชิญพระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ ขึ้นประดิษฐานไว้เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2515 ศาลาจตุรมุขหลังนี้ได้สร้างขึ้นด้วยเงินบริจาคของชาวสระบุรี สร้างเสร็จเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2515 เป็นเงินค่าก่อสร้าง 1,192,798.40 บาท

นิร แปลว่า "ปราศจาก" - โรคันตราย มาจากคำว่า "โรค+อันตราย" รวมความแล้ว "นิรโรคันตราย" หมายถึง "ความปราศจากโรคภัยอันตรายใดๆ"
สถานที่ประดิษฐานพระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ

ทิศเหนือ ประดิษฐานที่จังหวัดลำปาง - ข้างศาลเจ้าพ่อหลักเมือง
ทิศตะวันออก ประดิษฐานที่จังหวัดสระบุรี - ในวัดศาลาแดง หน้าศาลากลางจังหวัด
ทิศใต้ ประดิษฐานที่จังหวัดพัทลุง - ใกล้ศาลากลางจังหวัด
ทิศตะวันตก ประดิษฐานที่จังหวัดราชบุรี - บนยอดเขาแก่นจันทร์

โดยโปรดฯ เกล้า พระราชทานให้พร้อมกันทั้ง 4 จังหวัด ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ.2511


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น