จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันพุธที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2554

สถานที่ท่องเที่ยวจ.อ่างทอง


ข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว จังหวัดอ่างทอง


อนุสาวรีย์นายดอก นายทองแก้ว

อำเภอวิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง
ประดิษฐานอยู่ที่หน้าโรงเรียนวิเศษชัยชาญวิทยาคม หมู่ที่ 2 ตำบลไผ่จำศีล ตามเส้นทางสายอ่างทอง-วิเศษชัยชาญ ระหว่างกิโลเมตรที่ 26-27 เข้าไปประมาณ 1.5 กิโลเมตร ซอยปู่ดอก-ปู่ทองแก้ว 16 เป็นอนุสรณ์สถานที่ชาววิเศษชัยชาญและชาวอ่างทองร่วมกันสร้าง เพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีของวีรบุรุษแห่งบ้านโพธิ์ทะเล ชาววิเศษชัยชาญ ปู่ดอกและปู่ทองแก้ว ทั้งสองท่านยอมสละชีวิตอย่างกล้าหาญ เพื่อปกป้องแผ่นดินไทยในการสู้รบกับพม่า ที่ค่ายบางระจันก่อนที่กรุงศรีอยุธยาจะแตกในปี พ.ศ. 2309 อนุสาวรีย์แห่งนี้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาทรงเปิดเมื่อ พ.ศ. 2520

วัดป่าโมกวรวิหาร

อำเภอป่าโมก จ.อ่างทอง
อยู่ในเขตเทศบาลตำบลป่าโมก ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาด้านทิศตะวันตกห่างจากอำเภอเมืองอ่างทองไป 18 กิโลเมตร ตามเส้นทางหลวงหมายเลข 309 (สายอ่างทอง-อยุธยา)
กิโลเมตรที่ 40 แล้วเข้าทางหลวงหมายเลข 329 จากนั้นเข้าทางหลวงหมายเลข 3501 จะเห็นป้ายทางไปวัดป่าโมก ภายในวัดแห่งนี้มีพระพุทธไสยาสน์ที่งดงามมากองค์หนึ่งของเมืองไทย องค์พระก่ออิฐถือปูนปิดทอง มีความยาวจากพระเมาลีถึงปลายพระบาท 22.58 เมตร สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยสุโขทัย มีประวัติความเป็นมาเล่าขานกันว่า พระพุทธรูปองค์นี้ลอยน้ำมาจมอยู่หน้าวัด ราษฎรบวงสรวงแล้วชักลากขึ้นมาประดิษฐานไว้ที่ริมฝั่งแม่น้ำ ในพระราชพงศาวดารกล่าวว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราชก่อนที่จะยกทัพไปรบกับพระมหาอุปราช ได้เสด็จมาชุมนุมพลและถวายสักการะบูชาพระพุทธรูปองค์นี้

ต่อมากระแสน้ำเซาะเข้ามาใกล้พระวิหาร “ สมเด็จพระศรีสรรเพชญ์ที่ 3 โปรดเกล้าฯให้พระยาราชสงครามเป็นแม่กองงานจัดการชะลอลากให้ห่างจากแม่น้ำเดิม ” (สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ) ได้เสด็จมาควบคุมการชะลอองค์พระให้พ้นจากกระแสน้ำเซาะตลิ่งพัง และนำไปไว้ยังวิหารใหม่ที่วัดตลาดห่างจากฝั่งแม่น้ำ 168 เมตร แล้วโปรดให้รวมวัดตลาดกับวัดชีปะขาวเป็นวัดเดียวกัน พระราชทานนามว่าวัดป่าโมกเพราะบริเวณนั้นมีต้นโมกมากมาย สิ่งที่น่าสนใจในวัดนี้นอกจากพระพุทธไสยาสน์แล้วยังมี วิหารเขียนซึ่งเล่ากันว่า ผนังวิหารด้านที่หันออกสู่แม่น้ำมีแท่นสูงเข้าใจว่าเป็นแท่นที่เคยมีกษัตริย์ เสด็จประทับยืนบริเวณนั้น มณฑปพระพุทธบาท 4 รอย หอไตร เป็นต้น

วัดอ้อย

อำเภอวิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง
เป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองวิเศษชัยชาญ ตั้งอยู่หมู่ 10 ตำบลศาลเจ้าโรงทอง ริมฝั่งแม่น้ำน้อย ไปตามทางหลวงหมายเลข 3454 ประมาณ 2 กิโลเมตร ห่างจากวัดเขียนไปทางทิศเหนือประมาณ 1 กิโลเมตร สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาแต่จะสร้างในสมัยใด ใครเป็นผู้สร้างไม่ปรากฎหลักฐานแน่ชัด พระอุโบสถเป็นอาคารขนาดใหญ่หกห้อง ก่ออิฐถือปูนแบบโบราณ หลังคาเป็นเครื่องไม้ มุงด้วยกระเบื้องดินเผา มีลักษณะสวยงามคล้ายกับพระอุโบสถวัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พระอุโบสถนี้ไม่มีหน้าต่าง ลักษณะแบบนี้เรียกว่ามหาอุด รอบโบสถ์มีเสมา 8 ทิศ พระประธานเป็นพระหล่อสัมฤทธิ์ ชาวบ้านเรียกว่าหลวงพ่อดำ วัดอ้อยเป็นวัดถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาในสมัยอยุธยา นอกจากนี้ในบริเวณพื้นที่ของวัดอ้อย มูลนิธิสร้างสรรค์เด็กได้เปิดบ้านสำหรับให้ที่พักพิงแก่เด็กมีปัญหา เด็กเร่ร่อนติดยา หรือเคยประพฤติผิดกฏหมายชื่อว่า “บ้านเด็กใกล้วัด” เพื่อช่วยให้เด็กเหล่านี้มีชีวิตใหม่ที่ดีขึ้นได้สัมผัสธรรมชาติ และมีพระสงฆ์คอยช่วยเหลือบำบัดทางด้านจิตใจ

หมู่บ้านจักสาน

อำเภอโพธิ์ทอง จ.อ่างทอง
หมู่บ้านจักสาน งานฝีมือจักสานอันลือชื่อของอ่างทอง ส่วนมากจะเป็นฝีมือของชาวอำเภอโพธิ์ทอง แทบทุกครัวเรือนที่ตั้งบ้านเรือนเรียงรายอยู่ทั้งสองฟากฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในละแวกเ
ดียวกัน มีการจัดตั้งเป็นกลุ่มการผลิตเครื่องจักสาน เครื่องหวาย กลุ่มจักสานไม้ไผ่ เช่น กลุ่มตำบลองครักษ์ กลุ่มตำบลบางเจ้าฉ่า กลุ่มตำบลบางระกำ กลุ่มตำบลพลับ และกลุ่มตำบลอิทประมูล แหล่งหัตถกรรมเครื่องจักสานสำคัญที่ขึ้นชื่อของจังหวัดคือ “ บ้านบางเจ้าฉ่า” ตั้งอยู่ที่หมู่ 8 บ้านยางทอง ตำบลบางเจ้าฉ่า ตำบลนี้เป็นชุมชนที่มีมาในสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งชาวบ้านได้เคยร่วมกับชาวแขวงเมืองวิเศษชัยชาญ และชาวบางระจัน สู้รบกับพม่า ณ บ้านบางระจัน โดยมีนายฉ่าเป็นผู้นำ นายฉ่านั้นพื้นเพเป็นคนสีบัวทอง ภายหลังการสู้รบยุติแล้ว “นายฉ่า” จึงได้นำชาวบ้านมาตั้งบ้านเรือน เป็นที่อยู่อาศัยถาวรขึ้นในชุมชนด้านทิศตะวันตกของแม่น้ำน้อย แต่เดิมเรียกว่า “บ้านสร้างสามเรือน” เพราะเริ่มแรกมีเพียงสามหลังคาเรือนเท่านั้น ซึ่งเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การตั้งเป็นที่อยู่อาศัย ปัจจุบันมีชื่อว่า “บางเจ้าฉ่า” เพราะนำชื่อของนายฉ่ามาตั้งชื่อ ซึ่งนายฉ่านั้นเป็นทั้งผู้นำและเป็นผู้ก่อตั้งหมู่บ้าน
ที่นี่เป็นแหล่งผลิตเครื่องจักสานด้วยไม้ไผ่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามราชกุมารี ได้เคยเสด็จพระราชดำเนินมาเยือนและได้พระราชทานคำแนะนำให้ราษฎรปลูกไม้ไผ่สีสุก เพื่อเป็นวัตถุดิบในการทำเครื่องจักสาน และเป็นการอนุรักษ์งานฝีมือประเภทนี้ไว้ งานจักสานของบ้านบางเจ้าฉ่านี้มีความละเอียดประณีตสวยงาม สามารถพัฒนางานฝีมือตามความต้องการของตลาด ไม่ยึดติดกับรูปแบบเก่า จนสามารถส่งออกขายต่างประเทศได้ จึงได้รับการยกย่องว่าเป็นหมู่บ้านตัวอย่างในการพัฒนาอาชีพ
ภายในหมู่บ้านมีพิพิธภัณฑ์เครื่องใช้ไม้ไผ่ แสดงอุปกรณ์เครื่องใช้พื้นบ้านต่างๆ ที่ผลิตจากไม้ไผ่และมีเก็บรวบรวมเอาไว้ นอกจากนี้ที่บางเจ้าฉ่า ยังมีบริการรถอีแต๋นชมวิถีชีวิตริมแม่น้ำน้อย กิจกรรมชมแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร สวนมะม่วง สวนมะยงชิด และสวนกระท้อน ฯลฯ ชมแหล่งท่องเที่ยวในอำเภอใกล้เคียง อำเภอโพธิ์ทอง อำเภอไชโย และอำเภอแสวงหา มีบ้านพักโฮมสเตย์ไว้คอยบริการด้วย
การเดินทาง ไปตามเส้นทางสายอ่างทอง-โพธิ์ทอง ประมาณ 9 กิโลเมตร ถึงคลองชลประทานยางมณี จากนั้นเลี้ยวขวาเลียบคลองไปอีกประมาณ 5กิโลเมตร จึงเลี้ยวขวาไปตามทางเข้าวัดยางทอง แหล่งหัตถกรรมจะอยู่บริเวณหลังวัดยางทอง

วัดท่าสุทธาวาส

อำเภอป่าโมก จ.อ่างทอง

ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาด้านทิศตะวันออกเขตตำบลบางเสด็จ วัดนี้เป็นวัดเก่าแก่แต่โบราณ ในสมัยอยุธยาตอนต้น เวลาศึกสงครามบริเวณนี้จะเป็นเส้นทางเดินทัพข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา การเดินทางใช้เส้นทางสาย อยุธยา-อ่างทอง (ทางหลวงหมายเลข 309) กิโลเมตรที่ 38-39 ทางเข้าวัดจะอยู่ซ้ายมือก่อนถึงตัวจังหวัดอ่างทองประมาณ 17 กิโลเมตร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงรับวัดนี้ไว้ในพระราชอุปถัมภ์ บริเวณวัดแห่งนี้ร่มรื่นด้วยต้นไม้ขนาดใหญ่ และทัศนียภาพสวยงามริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา มีการจัดสร้างพลับพลาที่ประทับกลางสระน้ำ และสร้างพระเจดีย์เพื่อแสดงพระพุทธรูปโบราณ และโบราณวัตถุต่างๆ ข้างพลับพลาประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระเอกาทศรถ และภายในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จิตรกรส่วนพระองค์และนักเรียนในโครงการศิลปาชีพเขียนขึ้น เช่นเรื่อง พระมหาชนก ประวัติเมืองอ่างทอง อีกทั้งมีภาพฝีพระหัตถ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ที่ทรงจรดปลายพู่กันวาดผลมะม่วงไว้ด้วย 

ศูนย์ตุ๊กตาชาววังบ้านบางเสด็จ

อำเภอป่าโมก จ.อ่างทอง
เป็นเรือนไทยทรงสูง อยู่ด้านหลังวัดท่าสุทธาวาส ในพื้นที่ตำบลบ้านบางเสด็จ ตำบลนี้เดิมชื่อบ้านวัดตาลต่อมาได้เปลี่ยนเป็นชื่อบ้านบางเสด็จ เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถได้เสด็จพระราชดำเนิน พระราชทานความช่วยเหลือแก่ราษฎรผู้ประสบอุทกภัยในปี พ.ศ.2518 ซึ่งสร้างความปลื้มปิติให้แก่ราษฎรเป็นอันมาก เพื่อเป็นการระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณจึงได้เปลี่ยนชื่อบ้านวัดตาลเป็น บ้านบางเสด็จ
โครงการตุ๊กตาชาววังที่บ้านบางเสด็จ เป็นโครงการที่สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2519 เพื่อเป็นอาชีพเสริมเพิ่มพูนรายได้ ให้แก่ราษฎร ภายในหมู่บ้านบางเสด็จนี้ นอกจากจะได้ชมทัศนียภาพอันร่มรื่นและสวยงามริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาแล้วยังสามารถชมกา
รปั้นตุ๊กตาชาววังจากบ้านเรือนราษฎรละแวกนั้น ได้อย่างเป็นกันเอง มีการรวมกลุ่มในรูปของสหกรณ์โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ศูนย์ตุ๊กตาชาววังบ้านบางเสด็จ ซึ่งจะจัดให้สมาชิกมาสาธิตการปั้นตุ๊กตาชาววัง พร้อมกับจัดจำหน่ายในราคาที่ย่อมเยา ตุ๊กตาชาววังเป็นประดิษฐกรรมดินเหนียวที่สวยงาม แสดงให้เห็นวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนและวัฒนธรรมประเพณีไทยต่างๆ เช่น การละเล่นของเด็กไทย วงมโหรีปี่พาทย์ หรือรูปผลไม้ไทยหลากหลายชนิดซึ่งล้วนมีความสวยงามน่ารัก และเหมาะที่จะซื้อเป็นของฝาก หรือของที่ระลึกเป็นอย่างยิ่ง ศูนย์ปั้นและจำหน่ายตุ๊กตาชาววัง เปิดทุกวัน เวลา 09.00-16.00 น. โทร. 0 3566 2995 

หมู่บ้านทำกลอง

อำเภอป่าโมก จ.อ่างทอง
ตั้งอยู่ที่ ตำบลเอกราช หลังตลาดป่าโมก ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา การเดินทางใช้ถนนสายใน ผ่านหน้าที่ทำการเทศบาลอำเภอป่าโมกซึ่งขนานไปกับลำคลองชลประทาน ระยะทางประมาณ 17 กิโลเมตร ตลอดสองข้างทางจะเห็นร้านขายกลองเป็นระยะๆ ชาวบ้านแพเริ่มผลิตกลองมาตั้งแต่ พ.ศ.2470 โดยจะเริ่มหลังฤดูเก็บเกี่ยว วัตถุดิบที่ใช้ทำกลองได้แก่ ไม้ฉำฉาเพราะเป็นไม้เนื้ออ่อนที่สามารถขุดเนื้อไม้ได้ง่ายกับหนังวัว เราสามารถชมกรรมวิธีการทำกลองตั้งแต่เริ่มกลึงท่อนไม้เรื่อยๆไป จนถึงขั้นตอนการขึ้นกลอง การฝังหมุด กลองที่ทำมีตั้งแต่ขนาดเล็กจนถึงกลองขนาดใหญ่เช่น กลองทัด ซึ่งเราจะได้เห็นถึงฝีมือการทำที่มีคุณภาพ ประณีต สวยงามและยังสามารถซื้อไปเป็นของที่ระลึกกลับบ้าน หากผ่านหน้าบ้านกำนันหงส์ฟ้า หยดย้อย จะเห็นกลองยาวที่สุดในโลกตั้งอยู่ หน้ากลองกว้าง 36 นิ้ว 92 เซนติเมตร ยาว 7.6 เมตร ทำจากไม้จามจุรีต่อกัน 6 ท่อน สร้างปี 2537 ใช้เวลาสร้างประมาณ 1 ปี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น